การทอผ้าไหม




การทอผ้าไหม

กี่กระตุก
 ที่ใช้สำหรับทอผ้าไหม ต้องมีความแข็งแรงได้มุมฉาก ไม่โอนเอนหรือโยกไปมา เพราะจะมีผลต่อเกรนของผ้าทอ ทำให้ยากต่อการนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า กี่กระตุกมีอุปกรณ์ที่เป็นส่วนประกอบและขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อนกว่ากี่พื้นเมืองธรรมดา ผู้ผลิตจึงต้องใช้ความรู้ความชำนาญในการผลิตผ้าไหมให้ได้คุณภาพสูงสุด ปัจจุบันมีการใช้กี่กระตุก สำหรับทอผ้าไหม อีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสามารถทอได้เร็วประมาณ 100-120 เส้นพุ่ง/นาที อีกทั้งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการลงทุนที่สูงนัก

อุปกรณ์ที่สำคัญของกี่กระตุกสำหรับทอผ้าไหมเช่น

ตะกอ (Heald)
บางที่เรียกว่า “เขา” ทำด้วยเส้นด้ายที่มีความเหนียวพิเศษพิเศษคล้องอยู่กับด้ายยืนทุกเส้น ประโยชน์ของตะกอ คือช่วยทำให้ด้ายยืนถูกแบ่งเป็นสองส่วนเมื่อคนทอเหยียบไม้เท้าเหยียบ ตะกอจะแยกด้ายยืนออกเป็นช่องหรือเป็นแผ่นด้านล่างและด้านบนแล้วจึงสอดด้ายพุ่งไปตามช่องด้ายยืนนั้น และเมื่อสลับเท้าเหยียบตะกอบจะสลับด้ายยืนจากด้านล่างขึ้นบนและบนลงล่างเพื่อขัดเส้นพุ่งไว้ในขณะทอผ้า

กระสวย (Shuttle)
 มีลักษณะสี่เหลี่ยมยาว ทำด้วยไม้เนื้อแข็งปลายแหลมทั้งสองด้าน ตรงกลางมีแกนสำหรับบรรจุหลอดด้ายพุ่งเพื่อส่งหรือสอบเข้าไปในช่องด้ายยืนแล้วปล่อยด้ายพุ่งไว้ยาวตลอดหน้าผ้า สภาพของผิวกระสวยจึงต้องมีความลื่นเป็นพิเศษเพราะต้องวิ่งผ่านเส้นไหมทั้งไปและกลับด้วยความเร็ว ต้องสัมผัสกับเส้นไหมตลอดเวลาในขณะทอ

ฟันหวี (Reed)
บางที่เรียกว่า “ฟืม” มีลักษณะเป็นซี่ ๆ คล้ายหวีสำหรับหวีผมทำด้วยไม้หรือเหล็ก แต่ที่นิยมใช้กันมากคือฟันหวีเหล็กปลอดสนิม (Stainless Steel reed) เนื่องจากมีความแข็งแรงทนทานและไม่เกิดสนิม ฟันหวีมีไว้สำหรับร้อยเส้นด้ายยืนให้อยู่ห่างกันเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอเป็นตัวกำหนดความถี่ห่างของเส้นยืนที่จะทำการทอ เป็นตัวกำหนดความกว้างของหน้าผ้า เป็นตัวกั้นด้านข้างทางวิ่งของกระสวยและเป็นตัวกระทบเส้นด้ายพุ่งให้แน่นจนกลายเป็นผืนผ้า ฟันหวีมีหลายระบบแต่ที่นิยมใช้แพร่หลายในประเทศไทย มี 3 ระบบด้วยกัน คือ 

1. ระบบ “เบอร์” (Stockport system) เช่น ฟันหวีเบอร์ 80 หมายถึง “ฟันหวีที่มีความถี่ 80 ช่องต่อระยะ 2 นิ้ว”
2. ระบบ “เบอร์หันหวีทอผ้าไหม” เช่นฟันหวีทอผ้าไหมเบอร์ 2000 หมายถึง “ฟันหวียาว 44 นิ้ว มีช่องฟันหวีทั้งหมด 2,000 ช่อง” หรือมีความถี่เทียบเท่ากับฟันหวี (ระบบสต็อกปอร์ต) เบอร์ 90.9 (2000/44x2)
3. ระบบ “หลบ” หมายถึง “ฟันหวี 40 ช่องเท่ากับ 1 หลบ” เช่น ฟันหวี ขนาด 35 หลบ ยาว 40 นิ้ว มีช่องฟันหวีทั้งหมด 1,400 ช่อง (40x35) หรือเทียบเท่ากับฟันหวี (ระบบสต็อกปอร์ต) เบอร์ 70 (1,400/40x2)

เทคนิคพิเศษที่ใช้ในการทอผ้า

การขิด ขิด หมายถึง กรรมวิธีในการทอผ้าเพื่อให้เกิดลวดลายต่างๆ ขึ้นมา โดยวิธีการเพิ่มเส้นด้ายพุ่งพิเศษในระหว่างการ ทอ เพื่อให้เกิดลวดลายที่โดดเด่นกว่าสีพื้น วิธีการทำคือ ใช้ไม้เขี่ยหรือสะกิด เพื่อช้อนเส้นด้ายยืนขึ้น แล้วสอดเส้นด้ายพุ่ง ไปตามแนวที่ถูกจัดช้อน จังหวะการสอดเส้นด้ายพุ่งนี่เอง ที่ทำให้เกิดเป็นลวดลายต่างๆ

การจก เป็นเทคนิคการทอผ้าเพื่อให้เกิดลวดลายต่างๆ โดยเพิ่มเส้นด้ายพุ่งพิเศษสอดขึ้นลง วิธีการคือ ใช้ขนเม่น ไม้ หรือนิ้ว สอดเส้นด้ายยืนขึ้น แล้วสอดเส้นด้ายพุ่งพิเศษเข้าไป ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นลวดลายเป็นช่วงๆ สามารถทำสลับสีลวดลายได้หลากสี ซึ่งจะแตกต่างจากการขิดตรงที่ขิดที่เป็นการใช้เส้นด้ายพุ่งพิเศษเพียงสีเดียว การทอผ้าวิธีจกใช้เวลานานมากมักทำ เป็นผืนผ้าหน้าแคบใช้ต่อกับตัวซิ่น เรียกว่า “ซิ่นตีนจก”

การทอมัดหมี่ ผ้ามัดหมี่มีกรรมวิธีการทอผ้าที่ใช้เทคนิคการมัดและการย้อม เริ่มจากนำเส้นด้ายหรือไหมมาย้อมสีแล้วมัดบริเวณที่ ต้องการเก็บไว้ เมื่อนำไปย้อมสีอื่นจะได้ไม่ติดสี เพียงซึมเข้ามาบางส่วน โดยย้อมเรียงลำดับจากสีอ่อนไปหาสีเข้มจนครบ ตามลวดลายที่กำหนด หลังจากนั้นจึงนำด้ายกรอเข้าหลอดตามลำดับ แล้วนำไปทอจะเกิดลวดลายบนผืนผ้าที่มีลักษณะคลาดเคลื่อนเหลื่อมล้ำ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมัดหมี่ การทอผ้าชนิดนี้จึงต้องอาศัยความชำนาญในการมัดย้อมและทอเป็นอย่างมาก ผ้ามัดหมี่มีอยู่หลายชนิด ได้แก่
1. มัดหมี่เส้นพุ่ง
2. มัดหมี่เส้นยืน
3. มัดหมี่เส้นพุ่งและเส้นยืน

Creative Commons License
ผ้าไหมไทย by อินทิรา is licensed under a Creative Commons Attribution-ShareAlike 4.0 International License.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น